TEST NISSAN KICKS e-POWER

ตอนแรกที่ฟังว่า นิสสัน ทำรถไฟฟ้าตัวใหม่ ซึ่งตอนนั้น ก็งงๆ ว่า ทำมาแข่งกับ นิสสัน รีฟ หรืออย่างไร? ปรากฏว่าเจ้ารถไฟฟ้า ตัวใหม่ของ นิสสัน ชื่อว่า คิกส์ มันกลับกลายเป็นว่า มีอะไรๆ ที่แตกต่างจาก นิสสัน รีฟ ตรงที่ นิสสัน รีฟ ชาร์จไฟฟ้าบ้าน มาเป็นพลังงานหมุนมอเตอร์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนรถยนต์ แต่ นิสสัน คิกส์ เป็นรถไฟฟ้า ที่ชาร์จไฟบ้านไม่ได้ แต่เติมน้ำมัน เพื่อที่จะให้เครื่องยนต์เบนซิน นำมาสันดาป แล้วผลิตกระแสไฟ เพื่อใช้กับมอเตอร์ไฟฟ้า ในการขับเคลื่อนรถ

            แปลก แต่ จริง

            ของใหม่ คนไทยไม่รู้จัก

            การเปลี่ยนแปลงมีดีและไม่ดี

คิกส์ เป็นอีกหนึ่งบททดสอบของ นิสสัน

จากประสบการณ์ จะเห็นว่าคนไทย ยอมรับอะไรได้ช้า แบบค่อยเป็นค่อยไป มักจะดูคนอื่นใช้ก่อน แล้วถ้าเกิดปัญหา ตัวเองจะได้ลอยลำ แต่ถ้าดี ก็จะซื้อตามๆ กันไป 

บางครั้ง ด้วยแฟชั่น ความนิยม ก็มีส่วน เช่น ดารานิยมใช้ คนดังพูดถึงบ่อย หรือแม้แต่ราคาที่ถูก แถมมีสิ่งจูงใจ ที่ทำให้รู้ว่าทันสมัยทัดเทียมคนอื่น ก็จะเป็นตัวเร้า เร่งให้มีการซื้อขึ้นมาได้

ยกตัวอย่างเช่น รถไฮบริด เมื่อก่อนไม่มีคนกล้าใช้ จนกระทั่งมีรถปลั๊กอิน ไฮบริด และตามมาด้วยรถไฟฟ้าล้วนๆ ชนิดว่าไม่มีเครื่องยนต์ที่สันดาปด้วยน้ำมันเลย ก็มีคนซื้อกัน แต่พอถึงตอนนี้ นิสสัน กำลังนำพาเทคโนโลยีใหม่เข้าเมืองไทย คนไทยจะรับได้มากน้อยแค่ไหน?

เทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ (e-POWER) เอกสิทธิ์เฉพาะนิสสัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีรถยนต์ที่ใช้พลังงานมอเตอร์ไฟฟ้า จากการผลิตของเครื่องยนต์เบนซินมาแล้ว ในประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ในแดนอาทิตย์อุทัย จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นระบบ นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี (Nissan Intelligent Mobility) 

ทั้งนี้ เทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ มีความแตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี (Battery Electric Vehicle – BEV) อย่าง นิสสัน ลีฟ ด้วยการนำเครื่องยนต์สันดาปภายในขนาดเล็กมาสร้างการให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าชาร์จสู่แบตเตอรี่กำลังสูง ลดความกังวลใจในเรื่องของการชาร์จพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก ในขณะที่ให้พละกำลังและสมรรถนะการขับขี่เฉกเช่นรถยนต์ไฟฟ้า

บ้าบอ…รถอะไรกันวะนี่

มันจะใช้ได้จริงหรือ?

ทำมาเสริมไลน์อัพตลาดให้ครบหรือเปล่า…

รถยนต์ นิสสัน คิกส์ เป็นรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์เบนซิน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า  อินเวอร์เตอร์ มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แตกต่างจากระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดทั่วๆไป 

คือ ไฮบริด มีมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีกำลังไม่สูงมากนัก และจะทำงานคู่กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน เพื่อการขับเคลื่อนในขณะพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่เหลือน้อย หรือรวมถึงการขับขี่ด้วยความเร็วสูง 

แต่ นิสสัน คิกส์ ระบบอี-พาวเวอร์ มันได้รับพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไม่ใช่จากแบตเตอรี่ที่ต้องมีการชาร์จจากแหล่งพลังงานภายนอก แล้วมันดีอย่างไร? ฟังแล้วอาจจะงง คือ เอาง่ายๆ นิสสัน คิกส์ มีดีตรงลดมลภาวะเป็นพิษ เติมพลังงานง่ายกว่ารถไฟฟ้า แถมยังมีราคาจำหน่ายถูกกว่ารถไฟฟ้า

จุดเด่น คือ…

นิสสัน บอกว่า คิกส์ สามารถขับไปได้ทุกที่ แม้จะเป็นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าให้ชาร์จ เพราะบ้านเรา มีแหล่งเติมน้ำมันมากกว่าแหล่งเติมไฟฟ้า ซึ่งก็จริง 

ดังนั้น การเติมน้ำมันของ คิกส์ แต่ละครั้ง คือ การเติมไฟฟ้า แต่มีข้อดีกว่า คือ ใช้เวลาในการเติมเชื้อเพลิง ที่เป็นเบนซิน น้อยกว่าการชาร์จไฟฟ้า เพียงแค่ไม่กี่นาทีก็เติมน้ำมันเสร็จเต็มถัง แต่ถ้าเป็นการเติมไฟฟ้าให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขั้นต่ำอย่างน้อย ต้องใช้เวลาชาร์จ 4 ชั่วโมงขึ้นไป

แรกสัมผัสในการขับ คือ ภายในนั่งสบาย มองดูไม่ต่างจากรถธรรมดามากนัก ถ้าใครใช้รถไฟฟ้าอยู่แล้ว เจ้า คิกส์ ก็มีเทคโนโลยี ประมาณว่าล้ำยุคสมัยใหม่ แถม นิสสัน ได้พัฒนา  และเรียนรู้วิธีการลดขนาด กับน้ำหนัก รวมทั้งพัฒนาวิธีการควบคุมมอเตอร์ ให้ตอบสนองได้ดียิ่งขึ้น บวกกับเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานทำให้แบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถมอบประสบการณ์การขับขี่เช่นเดียวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ อาจเหยียบคันเร่งแล้ว เครื่องยนต์จะดูเงียบๆ แต่ขอบอก เร่ง เร็ว แรง สะใจ

นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ใหม่ ยังมาพร้อมโหมดการขับขี่ที่หลากหลาย คือ EV mode S mode Eco mode และ Normal mode 

ในส่วนของ EV โหมด เมื่อกดปุ่มแล้ว เครื่องยนต์ จะทำงานปั่นไฟทันที ให้ไฟฟ้าเต็มตลอดเวลา เตรียมการใช้งานเต็มรูปแบบเสมอ ไม่ต้องรอให้ไฟฟ้าลดลงแล้วค่อยชาร์จ

เอสโหมด เราจะนึกถึงการออกตัวปกติของรถยนต์ที่มีอัตราทดดีๆ ไม่ค่อยห่วงเรื่องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม จุดนี้เอง เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า รถไฟฟ้าไม่ต้องรอรอบ

ส่วนเจ้า อีโค่ โหมด เป็นโหมดที่ทำให้เราออกตัวได้นุ่มนวลมากยิ่งขึ้น เป็นการทำงานที่สอดประสานกับการประหยัดพลังงาน และการขับเคลื่อนแบบลักชัวรี่คาร์

ส่วน นอลมอล โหมด เป็นโหมดที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ขึ้นเลย เป็นการใช้งานแบบเสถียรภาพ อยู่ระหว่าง เอสโหมด กับ อีโค่โหมด เหมาะกับการใช้ปกติทุกวัน

ที่สำคัญเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ของนิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ใหม่ ใช้เครื่องยนต์ HR12DE ขนาด 1.2 ลิตร แถวเรียงแบบ DOHC (Double Overhead Camshaft) 12 วาล์ว 3 สูบ รับหน้าที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และยังมีส่วนประกอบของระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่สำคัญๆ อาทิ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ EM57 ให้กำลังสูงสุด 129 แรงม้า (PS) มีแรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร (Nm) และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 1.57 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) มีจำนวน 4 โมดูล เทคโนโลยีนี้มอบการเร่งความเร็วที่ราบรื่น การขับขี่ที่เงียบ และการประหยัดน้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูง อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประมาณ 9 วินาทีเศษๆ เท่านั้น

การออกแบบภายในสวย มีให้เลือกทั้งแบบเบาะหนังสีดำ และเบาะแบบทูโทน พวงมาลัยแม่นยำ หุ้มหนัง หัวเกียร์ออกแบบทันสมัย การเบรกสั่งงานได้ดี ตอบสนองการขับทุกย่านความเร็ว เพราะไม่ต้องรอรอบเหมือนเครื่องยนต์สันดาปด้วยน้ำมัน รถจึงพุ่งทะยานออกไปได้เลย 

คอมแพ็ค เอสยูวี คันนี้ยังมาพร้อมการออกแบบที่ให้ความโดดเด่น และยังคงความปลอดภัย และ ความแข็งแกร่ง บนพื้นฐานของ Zone body Concept

เทคโนโลยี วัน-เพดัล ยังช่วยให้ผู้ขับขี่มีความสนุกสนาน จากการขับโดยใช้เพียงคันเร่งเดียว คือ ถอนคันเร่ง รถก็จะชะลอตัวไปเอง แต่การเบรกในสภาะที่ต้องเบรกกะทันหัน ยังคงต้องกระทำเหมือนเดิม เพิ่มเติม คือ มีลูกเล่นให้ความสนุกสนานมากขึ้นในการขับขี่

เทคโนโลยีเตือนก่อนการชน คือ จะส่งสัญญาณเสียงพร้อมสัญลักษณ์เตือนบนหน้าปัด หากพบความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการชนด้านหน้า คือ กันเผลอแต่งหน้า หรือดูไลน์ในโทรศัพท์ ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน

แต่ที่ชอบที่สุด คือ เทคโนโลยีเตือนจุดอับสายตา หรือ Blind Spot Warning เป็นเทคโนโลยีเตือนอัจฉริยะ ที่ทำให้ขับขี่มั่นใจยิ่งขึ้น เพิ่มความปลอดภัย ในสถานการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนช่องทางการขับขี่ ทันทีที่สัญญาณไฟเลี้ยวเปิด ระบบจะส่งเสียงสัญญาณพร้อมไฟกระพริบเตือน ให้ผู้ขับรู้ล่วงหน้า ที่กระจกมองข้าง ว่าขณะนั้นกำลังมีรถคันอื่นอยู่ในช่องทางขับขี่ด้านข้าง ซึ่งผู้ขับขี่ไม่สามารถมองเห็นได้ อันนี้ป้องกันพวกสายแว๊นที่ชอบมาลากแตะ ด้านข้างใกล้ๆ รถ

จุดขายหลักของ นิสสัน รุ่นพี่อย่าง นิสสัน เทอร่า คือ เทคโนโลยีกระจกมองหลังอัจฉริยะ กระจกมองหลัง ของ นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ใหม่ จะมีหน้าจอแบบ LCD ที่แสดงภาพจากกล้องด้านหลังตัวรถ เหมือน นิสสัน เทอร่า โดยภาพบนจอจะช่วยให้ผู้ขับขี่เห็นทัศนวิสัยด้านหลังได้ในมุมที่กว้างขึ้น โดยผู้ขับขี่สามารถเลือกปรับเปลี่ยน ระหว่างจอแสดงภาพจากกล้องหรือจากกระจกได้ เพื่อช่วยให้การมองเห็นสภาพการจราจรด้านหลังได้อย่างชัดเจนที่สุดคนนั่งในห้องโดยสารเยอะ หรือข้างนอกเป็นตอนกลางคืน ก็ยังมองเห็นได้ชัดเจน

ตอนที่ได้ลองขับนี้ ต้องบอกว่า เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง เป็นระบบช่วยตรวจสอบ และแก้ไขการบังคับเลี้ยว หรือการเร่ง ซึ่งจะช่วยปรับ และควบคุม พร้อมกับเบรกล้อทั้ง 4 ให้เป็นไปตามพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ที่ง่ายต่อการควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง โดยระบบจะประเมินจากพฤติกรรมการขับขี่ ทั้งการบังคับพวงมาลัย การเบรก และการเร่งความเร็ว มิน่า การขับเข้าโค้งของเรา จึงทำความเร็วได้สูงขึ้น

ถึงจะเน้นในการขับขี่ แต่รายละเอียดอย่าง  พวงมาลัยสปอร์ตแบบมัลติฟังก์ชัน ทรง D-Shape ปรับสูงต่ำได้ สามารถควบคุมระบบการทำงานของเครื่องเสียงและระบบเชื่อมต่ออื่นๆ ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส กุญแจรีโมทอัจฉริยะ และกุญแจระบบ Immobilizer เบาะนั่งด้านคนขับสามารถปรับระดับ เพื่อความเหมาะสมกับขนาดร่างกาย ขณะที่ด้านหลังที่นั่งมีช่องเก็บของอเนกประสงค์ ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ  กระจกไฟฟ้ารอบคัน พร้อมระบบป้องกันการหนีบ 

ในการลองขับครั้งนี้ นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ นำมาให้ลองขับทั้ง 6 สีภายนอก กับภายในโทนสีดำ และทูโทน เราเลือกขับเจ้า สีส้ม โมนาร์ช และภายในแบบทูโทน ในตัวท็อป NISSAN KICKS  e-POWER รุ่น VL ราคาก็อยู่ที่ 1,049,000 บาท

 

Related posts

Visit Us On FacebookVisit Us On TwitterVisit Us On YoutubeCheck Our Feed