อีซูซุดีแมคซ์ สเทลธ์ แอ่วเมืองเหนือ

บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ถือฤกษ์ดีในสัปดาห์แรกของการแนะนำปิกอัพรุ่นใหม่ล่าสุด “อีซูซุดีแมคซ์ ไฮ-แลนเดอร์ รุ่นพิเศษ! สเทลธ์” (STEALTH)  ทะยานเหนือชั้น ดุดันทุกองศา จัดกิจกรรม “อีซูซุดีแมคซ์ สเทลธ์ เพรสทริป” เชิญชวนสื่อมวลชนเปลี่ยนบรรยากาศ หลีกหนีเมืองใหญ่มุ่งทะยานสู่ดินแดนเล็ก ๆ แห่งวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ ณ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

อีซูซุเชิญชวนสื่อมวลชน เดินทางท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือ ผ่านเมืองใหญ่และสถานที่สำคัญจนชินตา แต่ครั้งนี้คณะสื่อมวลชนได้รับการทาบทามให้ร่วมเดินทางไปกับ “อีซูซุดีแมคซ์ ไฮ-แลนเดอร์ รุ่นพิเศษ! สเทลธ์” ลัดเลาะเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสู่ปลายทางที่จังหวัดลำพูน เมืองที่เล็กที่สุดของภาคเหนือ ซึ่งเมื่อรับฟังการบรรยายเส้นทาง พร้อมตรวจเช็กความพร้อมของสเทลธ์ ทั้ง 10 คัน  ก็ได้เวลาเคลื่อนพลไปยังจุดหมายแรก ณ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยแวะพักรับประทานอาหารตุนเสบียงกันก่อนที่ “ครัวกันเอง” ร้านอาหารพื้นบ้านท่ามกลางวิวภูเขาอันสวยงาม ก่อนเดินทางต่อไปยัง ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอที่ยังคงเคร่งครัดในวัฒนธรรมและถือศีลกินเจ เหมือนดั่งเมื่อครั้งที่ครูบาวงศ์ ผู้ก่อตั้งชุมชนยังมีชีวิตอยู่

คุณวิมล สุขแดง ประธานท่องเที่ยวชุมชนฯ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ อาทิ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่ากำเนิดเมืองลี้ และประวัติครูบาวงศ์ไว้อย่าววิจิตรงดงาม จากนั้นเดินทางต่อไปยัง พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย หรือ เจดีย์ชเวดากองเมืองไทย อีกหนึ่งไฮไลท์ของชุมชนที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด ออกแบบและสร้างโดยครูบาวงศ์และคณะศิษยานุศิษย์ เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในวาระฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ก่อนปิดท้ายความสนุกของเมืองลี้ ด้วยการเยี่ยมชม ศูนย์วิจัยหัตถกรรมบ้านห้วยต้ม ชมการสาธิตการทอผ้ากี่เอว และการทำเครื่องเงิน สินค้า OTOP เลื่องชื่อ จนเกือบพลบค่ำจึงออกเดินทางกลับยังอำเภอเมือง เพื่อพักผ่อนก่อนออกสัมผัสวิถีชุมชน

รุ่งขึ้นในเช้าวันใหม่ อีซูซุ นำคณะสื่อมวลชนนั่งรถรางเที่ยวชมย่านเมืองเก่า โดยขับรถเป็นขบวนไปจอดหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย อันเป็นต้นสายของบริการรถรางนำเที่ยว ซึ่งช่วงนี้กำลังมีงานเทศกาลถวายโคมแสนดวง ถือเป็น 1 ใน 10 มหัศจรรย์ล้านนาที่ลำพูน จึงมีการแขวนโคมหลากสีสวยงามประดับประดาตามสถานที่ต่าง ๆ  เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย และสักการะพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าการทำโคมเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ประทับบนสรวงสวรรค์ และแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข

อนึ่ง ขบวนรถรางเริ่มจาก พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง อาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเดิมเป็นคุ้มของเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ กับเจ้าหญิงส่องหล้า ซึ่งบอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเมืองลำพูน ผ่านภาพถ่ายของบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ เครื่องใช้และของสะสม ซึ่งที่นี่ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีชีวิต  ผ่าน คุ้มเจ้ายอดเรือน  อาคารเก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งในเขตกำแพงเมืองลำพูน เป็นเรือนพักอาศัยที่เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายสร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่เจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้าย  ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงอาคารโครงสร้างบ้านเก่า สิ่งของ เครื่องใช้พื้นบ้าน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเจ้าผู้ครองนครลำพูน

จากนั้นได้แวะสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ซึ่งพระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถ และกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนหริภุญชัยนี้จนรุ่งเรือง  ต่อด้วยกิจกรรมไหว้พระทำบุญ ณ วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด  ซึ่งตามหลักฐานจากศิลาจารึกที่พบเชื่อว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวีโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิงพระนาง และบรรจุอัฐิในพระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ เจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทองตามแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย หากแต่ต่อมาสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ยอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่ากู่กุดพระเจดีย์ ซึ่งถือเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่มีความสําคัญในศิลปกรรมสมัยหริภุญชัย

และสุดท้าย ไม่ควรพลาด วัดสันป่ายางหลวง  ที่ติด 1 ใน 5 วัดที่สวยที่สุดในประเทศไทย ภายในวัดมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างวิจิตรงดงาม  โดยเฉพาะวิหารพระโขงเขียว ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย หรือพระหยกเขียว ซึ่งนำมาจากแม่น้ำโขง ก่อนส่งท้ายการเดินทางครั้งนี้ด้วยอาหารพื้นเมืองรสเลิศ ณ เฮือนใจ๋ยอง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

 

 

Related posts

Visit Us On FacebookVisit Us On TwitterVisit Us On YoutubeCheck Our Feed