โตโยต้า ไดฮัทสุ สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม

บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing: TDEM) สำนักงานระดับภูมิภาคของโตโยต้าในเอเชีย ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิศวกรรม การผลิต และส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดตัว “ศูนย์    โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม” (Toyota Social Support Center : TSSC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System: TPS) อันเป็นจุดแข็งหลักที่เป็นเอกลักษณ์ของโตโยต้าและได้รับการยอมรับทั่วโลก

อนึ่ง ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System: TPS) เป็นหลักการพื้นฐานของโตโยต้าที่ใช้ในการบริหารจัดการ เกิดขึ้นจากระบบควบคุมการผลิตขององค์กร ซึ่งมุ่งกำจัดความสูญเปล่า โดยมีเป้าหมายในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็วที่สุดตามคำสั่งซื้อรากฐานของแนวคิดระบบ TPS มีต้นกำเนิดมาจากเครื่องทอผ้าแบบอัตโนมัติ ซึ่ง มร.ซากิจิ โตโยดะ บิดาของผู้ก่อตั้งบริษัท  โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ได้คิดค้นขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบนี้ก็มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานในแขนงอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการผลิตและการขนส่ง ปัจจุบันยังใช้ในส่วนงานการวางแผน การขาย และการบริหารจัดการงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง

โตโยต้าเชื่อว่าระบบ TPS มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถขององค์กร เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันอย่างไม่หยุดยั้งสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนทำตามคำมั่นสัญญาของโตโยต้าในการนำเสนอคำตอบด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปครั้งสำคัญในรอบศตวรรษนี้ (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ TPS คลิกที่นี่ https://global.toyota/en/company/vision-and-philosophy/production-system/)

ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม (Toyota Social Support Center: TSSC) ไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรที่โตโยต้าเข้าไปช่วยเหลือด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ของระบบ TPS เพื่อให้องค์กรนั้นๆ สามารถระบุและแสดงให้เห็นถึงปัญหาเพื่อการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง อันเป็นแนวคิดหลักของระบบ TPS 

มร.คัทสึชิ นิชิกาวา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งควบคุมหน่วยงานส่งเสริมระบบการผลิตแบบโตโยต้า และศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า “เราตั้งใจให้ศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงมุ่งปรับปรุงกระบวนการเท่านั้น แต่ยังต้องการแบ่งปันองค์ความรู้ในการแสดงให้เห็นถึงปัญหา และแก้ไขปัญหาให้กับองค์กรที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเรา ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนองค์กรนั้นๆ พร้อมไปกับการช่วยเหลือสังคมไปในเวลาเดียวกันเพื่อที่สุดท้ายแล้วพวกเขาจะสามารถบริหารจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นได้ด้วยตนเอง  เรามุ่งมั่นทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่โดยอาศัยระบบ TPS เป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าของโตโยต้าในการสร้างความสุขให้กับทุกคนนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราได้มีโอกาสส่งเสริมและพัฒนาสังคมด้วยระบบ TPS ซึ่งถือเป็นจุดแข็งภายในองค์กรของเราที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานมาหลายทศวรรษ และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางอยู่ ดังนั้น เราจึงได้เริ่มโครงการนี้ในประเทศไทยก่อน จากนั้นจะขยายผลต่อยอดความสำเร็จของโครงการไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโตโยต้าและสังคมให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กันในระยะยาว”

นับตั้งแต่การเปิดศูนย์โตโยต้าฯ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 โครงการแรกที่ทางศูนย์โตโยต้าฯ ได้เข้าไปสนับสนุน คือ โรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายลดระยะเวลารอคอยให้กับคนไข้บนพื้นฐานของแนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างโรงพยาบาลบางบ่อ และศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบจัดยาตามใบสั่งของแพทย์ และตามหลักการ Just In Time หรือการส่งมอบแบบทันเวลาพอดี ทั้งนี้ คณะทำงานได้วิเคราะห์และแยกแยะขั้นตอนการทำงาน ระบุขั้นตอนที่สามารถปรับปรุงได้ รวมถึงยังช่วยนำเสนอขั้นตอนการทำงาน ระบุส่วนงานที่จะต้องทำการปรับปรุงและทำให้การเคลื่อนไหวของบุคลากรง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ระยะเวลาเฉลี่ยที่คนไข้ต้องรอคอยเพื่อรับยาลดลงจาก 75 นาที เหลือเพียง 30 นาที (หรือเท่ากับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น 60%) ช่วยลดเวลาที่คนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลและเพิ่มความอุ่นใจให้กับคนไข้ได้ในอีกทางหนึ่ง  ปัจจุบันทางศูนย์โตโยต้าเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม ยังคงประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลบางบ่ออย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและปรับปรุงขั้นตอนอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งลดระยะเวลาที่คนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาล และเพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถรักษาคนไข้ได้มากขึ้นด้วย  

 

Related posts

Visit Us On FacebookVisit Us On TwitterVisit Us On YoutubeCheck Our Feed