เมอร์เซเดส-เบนซ์  ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย

เป็นครั้งแรก ที่มีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทย แต่เป็นแบตเตอรี่ แบบที่ใช้กับรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอินโดยเฉพาะ เพราะ เบนซ์  มุ่งผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มร.มาร์คุส เชฟเฟอร์ กรรมการบริหาร รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ฝ่ายการผลิตและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ระบุว่า “โครงการเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในเครือข่ายการผลิต ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการผลิตสูง กำลังก้าวรุดหน้าด้วยดีและรวดเร็วอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในแผนงานตามกลยุทธ์ของเราคือการร่วมมือกับพันธมิตร อย่างธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคตแห่งการสัญจรในประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจากแนวคิดการผลิตแบตเตอรี่ของเราที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถขยายต่อเติมได้ ทำให้เราเปิดสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วในภูมิภาคใดๆ ก็ตามด้วยขนาดโรงงานที่เหมาะสม”

เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์เดินหน้าเสริมศักยภาพด้านการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังตัดสินใจเดินกลยุทธ์เพื่อรองรับรูปแบบการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งกำลังมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค โดยนับจากนี้จนถึงปี 2563 ทางบริษัทฯ จะทุ่มเงินลงทุนรวมกว่า 100 ล้านยูโรเพื่อขยายการผลิตในไทยร่วมกับพันธมิตรในประเทศ คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อขยายโรงงานรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ขึ้นในที่ตั้งเดียวกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าไว้พร้อมสำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicle – BEV) ที่ผลิตขึ้นที่นี่

ข้อดีของการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและแนวคิดในการออกแบบโรงงาน แผนงานในการผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์จึงสามารถปรับขยายได้เพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะต่างๆ และเพื่อให้การดำเนินการตามแผนการผลิตเป็นไปด้วยความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภาวะตลาดทั่วโลก และภายในปี 2565 บริษัทฯ จะผสานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ากับรถยนต์ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อย่างน้อย 1 รุ่นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่รถยนต์จากแบรนด์สมาร์ทไปจนถึงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทฯ กำลังวางแผนจะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า  50 รุ่นย่อยอีกด้วย ในขณะเดียวกันเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ ปลั๊กอินไฮบริดและการแจ้งเกิดของระบบ 48 โวลท์ พร้อมด้วยรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล EQ ซึ่งใช้ชื่อว่า EQC ที่จะเข้าสู่สายการผลิตในปี 2562 ที่เบรเมน ประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้ EQ เป็น แบรนด์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ CASE ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักเชิงกลยุทธ์ที่ผสานกันอย่างชาญฉลาด ได้แก่ การเชื่อมต่อ (Connected), การขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous), ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Shared & Services) และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric) โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6 ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ โรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โดยจะผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและเพื่อส่งออก เดมเลอร์ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 1 พันล้านยูโร) ในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว ซึ่งยังมีโรงงานทั้งในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีนอีกด้วย เครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่นี้จะตอบสนองความต้องการในตลาดอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ อันทันสมัยจากศูนย์กลางการผลิตในแต่ละพื้นที่ ทั้งยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกาไว้พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามแผนงานรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปี 2562 นี้

 

 

 

 

Related posts

Visit Us On FacebookVisit Us On TwitterVisit Us On YoutubeCheck Our Feed