ฟอร์ด สนับสนุนนักศึกษาวิศวะฯ

ฟอร์ด ประเทศไทย สนับสนุนนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)ในภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” (Co-Creation Ward Innovation Technology 2020) “หุ่นยนต์และอุปกรณ์” ประกอบไปด้วย หุ่นยนต์ “น้อง C และ น้อง W” ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย 

อย่างไรก็ตามทีมวิศวกรของโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) ยังได้นำพื้นฐานหุ่นยนต์ที่นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประดิษฐ์ขึ้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ไว้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจเพิ่มอีก 1 ตัว โดยมีนายแพทย์ เกรียงไกร  ตั้งจิตรมณีศักดา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้รับมอบ 

คุณวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า “ฟอร์ดมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมเสมอมา ฟอร์ดและทีมวิศวกรจากโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของฟอร์ดมาให้การสนับสนุนนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ในภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัส และแบ่งเบาภารกิจในการดูแลผู้ป่วย ฟอร์ดเชื่อว่าสิ่งที่พนักงานได้ร่วมสนับสนุนในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้แก่นักศึกษาในการพัฒนาโครงการดีๆ เพื่อสังคม รวมถึงเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยในสมาร์ทวอร์ดที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์”

สำหรับ “หุ่นยนต์และอุปกรณ์” ในภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” ของนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประกอบไปด้วย

1.หุ่นยนต์ที่ใช้ในการนำส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยจำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกคือ “น้องC” ย่อมาจากคำว่า Collaborate หมายถึงการร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์ พัฒนา ระหว่างทีมแพทย์และอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม พร้อมด้วยผู้ร่วมสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ มากมาย และตัวที่ 2 คือ “น้อง W”มาจากคำว่า Well หมายถึงความคาดหวังของทีมผู้มีส่วนร่วมทุกท่านประสงค์ให้ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิม ทั้งสุขภาพของผู้ติดเชื้อ สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก รูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ “น้อง C และ น้อง W” คือ เดินตามเส้นทางและใช้แผ่น RFID เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของห้อง ซึ่งทำงานง่าย สะดวก เพียงกดปุ่มหมายเลขห้องที่ต้องการ จากนั้นหุ่นยนต์จะนำส่งอาหารและยาไปให้ในห้องผู้ป่วย โดยต่อ 1 รอบ สามารถทำได้สูงสุดถึง 6 ห้อง ซึ่งจะทำการประมวลผลอัตโนมัติในการเลือกเส้นทางห้องใกล้ที่สุดไปจนถึงห้องไกลที่สุด จากจุดปล่อยหุ่นยนต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหุ่นยนต์อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ดังนั้นหุ่นยนต์จะต้องเดินไปยังตู้ฆ่าเชื้อ UVC โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้การอบฆ่าเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเชื้อโรคได้ถูกกำจัดเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการใช้งานต่อไป

2.หุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยทีมวิศวกรโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยทีมวิศวกรได้นำพื้นฐานหุ่นยนต์ที่นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประดิษฐ์ขึ้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์อีก 1 ตัว เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับความร่วมมือจากวิศวกรหลายแผนกของโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด นำเทคโนโลยีรถขนส่งอัตโนมัติ (AGV – Automatic Guided Vehicle) ที่ซึ่งเป็นระบบที่ใช้อยู่ในโรงงานฟอร์ดมาพัฒนาต่อยอด โดยได้รับความร่วมมือจาก Ford Design Studio ที่ประเทศออสเตรเลียร่วมออกแบบ เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ไว้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วย

3.ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคหลังจากที่ “น้อง C และ น้อง W” ส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยเสร็จในแต่ละรอบ

4.ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย แต่ละห้องติดตั้งเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเดินเข้าไปให้บริการผู้ป่วยได้ถึงเตียงโดยลดการสัมผัสประตู

5.เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย (อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร) ใช้สำหรับเฝ้าติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วยว่าอยู่ในอัตราปกติหรือไม่ ผ่านโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันบนมือถือ

 

Related posts

Visit Us On FacebookVisit Us On TwitterVisit Us On YoutubeCheck Our Feed