เชฟโรเลตแนะนำเคล็ดลับการขับแบบออฟโรด

การขับขี่แบบออฟโรดนั้น ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีทักษะและความชำนาญในการขับขี่ และต้องมีความเข้าใจในลักษณะภูมิประเทศและสภาวะต่างๆ รวมถึงเข้าใจในสมรรถนะของรถยนต์ด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าผู้ขับขี่จะมีทักษะและเข้าใจถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ตาม การขับขี่แบบออฟโรดก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณได้ เชฟโรเลตจึงขอแนะนำข้อควรระมัดระวังและการวางแผนในการขับขี่แบบออฟโรด ตลอดจนเคล็ดลับการขับออฟโรดในการเดินทางไปในทุกที่ด้วยรถอเนกประสงค์เทรลเบลเซอร์และรถกระบะโคโลราโด ซึ่งรถทั้งสองรุ่นนั้นเป็นรถที่จัดอยู่ในกลุ่มรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพและความสามารถมากที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดรถยนต์

โดยปกติทั่วไปแล้วรถอเนกประสงค์และรถกระบะมักจะใช้งานระบบขับเคลื่อนสองล้อเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถขับเคลื่อนแบบสี่ล้อได้เมื่อต้องขับขี่แบบออฟโรด หรือเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายต่างๆ เช่น ฝนตกหนัก ถนนที่เต็มไปด้วยดินโคลนหรือพื้นผิวถนนที่ลื่น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าวการขับขี่โดยใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ระบบการขับเคลื่อนสี่ล้อของรถอเนกประสงค์เทรลเบลเซอร์ และรถกระบะโคโลราโดสามารถช่วยเพิ่มแรงฉุดลากได้ด้วยการถ่ายกำลังของเครื่องยนต์ไปยังล้อทั้งสี่ล้อ

ระบบขับเคลื่อนสองล้อด้วยความเร็วสูงหรือโหมดทูไฮ (2H – Two-Wheel Drive High) มักใช้สำหรับการขับขี่บนถนนทั่วไปและไฮเวย์

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อด้วยความเร็วสูง หรือโหมดโฟร์ไฮ (4H – Four-Wheel Drive High) ใช้เมื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะบนผิวถนนลื่น

ตำแหน่งเกียร์ว่าง หรือโหมด N (Neutral) ใช้เมื่อต้องลากจูง และโหมดโฟร์โลว์ (4L- Four-Wheel Drive Low) ใช้เมื่อขับบนทรายหรือดินโคลน หรือเมื่อต้องขึ้น/ลงเนินที่มีความลาดชันสูง

ข้อควรรู้ความกว้าง ความสูง สมรรถนะ แรงบิด และระบบช่วยเหลือทั้งหมดของรถคุณ เพื่อที่คุณจะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีในการใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับถนนที่มีสภาพพื้นผิวที่หลากหลาย ควรทำความเข้าใจกับฟีเจอร์ระบบช่วยเหลือต่างๆ ในรถยนต์ของคุณ รวมถึงระบบเบรกป้องกันล้อล็อค หรือ Antilock Brake System (ABS) ระบบเสริมแรงเบรก (Brake Assist) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว หรือ Electronic Stability Control (ESC) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Grade Braking) โหมดลงทางลาดชัน ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางชัน หรือ Hill Start Assist (HSA) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน หรือ Hill Descent Control (HDC) และระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและการลื่นไถลTraction Control System (TCS)

การเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ต่อไปนี้จะมีประโยชน์ในสภาวะคับขัน ไม่ว่าจะเป็นยางออลเทอร์เรน (AT) และยางอะไหล่ขนาดเท่ายางที่ใช้งาน (full-size) เครื่องวัดความดันของลมในยาง ชุดอุปกรณ์เติมลมยางแบบอิเลคทรอนิกส์ แม่แรงหนุนรถสูง/แม่แรงยกของสูง ชุดรักษาความปลอดภัย รวมถึงชุดปฐมพยาบาล และเครื่องดับเพลิง ชุดวินซ์/กว้าน ยึดหรือผูกกับสายรัด เครื่องมืออเนกประสงค์ พลั่วและขวาน วิทยุสื่อสารคลื่นความถี่ประชาชน (CB) เข็มทิศและไฟฉาย อีกทั้งท่านั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม สิ่งแรกที่ผู้ขับขี่ควรทำ คือ การปรับตำแหน่งเบาะที่นั่งให้เหมาะสมกับรูปร่างของตนเอง และคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะจะช่วยให้ผู้ขับขี่รักษาตำแหน่งที่นั่งได้เมื่อต้องขับขึ้น/ลงเนินเขาที่สูงชัน  การจับพวงมาลัยให้ถูกต้อง การวางมือของคุณบนพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และ 9 นาฬิกา จับพวงมาลัยให้กระชับโดยให้นิ้วโป้งทั้งสองข้างชี้ขึ้น ไม่ควรสอดนิ้วโป้งเข้าไปในพวงมาลัยเมื่อต้องขับขี่แบบออฟโรด เพราะเมื่อรถยนต์ชนกับหินหรืออุปสรรคอื่นๆ พวงมาลัยจะหมุนอย่างรวดเร็วและอาจจะทำให้นิ้วโป้งหรือข้อมือของคุณได้รับบาดเจ็บ เพิ่มแรงฉุดลาก เมื่อต้องขับขี่บนพื้นผิวถนนที่ไม่แน่น ลาดชัน หรือเปียกลื่น ไม่ควรเหยียบคันเร่งมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้รถเสียการทรงตัวบนถนนที่พื้นผิวไม่แน่น ทำให้ควบคุมรถได้ยาก

คำแนะนำ ควรใช้เกียร์ต่ำ และขับช้าๆ หากเป็นไปได้ ให้ขับทั้งขึ้นและลงเขา ชะลอความเร็วเมื่อใกล้ถึงยอดเขา ห้ามลงเขาด้วยเกียร์ว่างในตำแหน่ง N (Neutral) เมื่อต้องขับรถลงเขา บังคับพวงมาลัยให้ตรง และใช้เกียร์ต่ำ เพราะกำลังเครื่องจะส่งไปยังเบรก เพื่อชะลอความเร็วและช่วยให้สามารถควบคุมรถยนต์ได้

สุดท้าย การขับขี่ผ่านน้ำลึก ถ้าน้ำไม่เชี่ยวและระดับน้ำไม่ลึก ให้ขับผ่านอย่างช้าๆ ถ้าขับขี่ด้วยความเร็วสูงเกินไป จะทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์ และสามารถทำให้เครื่องยนต์ดับได้ ก่อนที่จะขับลงไปในน้ำ ให้ปิดแอร์และเปิดกระจกทั้ง 4 บาน ค่อยๆ ขับลงน้ำด้วยความเร็วไม่เกิน 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพิ่มความเร็วเป็น 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่ออยู่ในน้ำ เมื่อขับรถพ้นจากน้ำ ให้เหยียบเบรกหลายๆ ครั้ง เพื่อรีดน้ำออกจากผ้าเบรก จึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้การขับแบบออฟโรด ปลอดภัยถึงจุดหมาย

 

 

 

Related posts

Visit Us On FacebookVisit Us On TwitterVisit Us On YoutubeCheck Our Feed