เรื่องสีของ รถยนต์ หลายคนเลือกแล้วเลือกอีก ก่อนที่จะออกรถ บางครั้งบริษัทรถยนต์ ไม่ได้ผลิตสีที่ตนเองต้องการ จึงได้ออกรถ แล้วไปทำสีใหม่ ให้ถูกจริตตน แล้ว ฟอร์ด รู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่ารถสีไหนจะเป็นที่นิยมในอนาคต
คือ ความนิยมของแต่ละประเทศ ก็ไม่เหมือนกัน อย่างประเทศไทย มีสีที่คละแบบกันไป แต่พอไปเกาหลีใต้ ปรากฏว่าบริษัทรถยนต์ผลิตรถแค่ 3 สีเป็นหลัก คือ ขาว ดำ และเทา มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในเกาหลีใต้ ที่ต้องการสีอื่น แต่พี่ไทยเรา มีความต้องการทุกสี แต่ว่าสีที่พ่นจากโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองไทย ยังไม่รองรับความต้องการของประชาชน
การเลือกสีรถยนต์ของคนไทย ก็จะดูจากวันเดือนปีเกิดเป็นหลัก หรือบางทีดูจากปีเกิด ว่านักษัตรใด นอกจากสีที่คนไทยชอบเลือกให้ถูกโฉลก หรือตรงรสนิยมแล้ว ยังต้องมีฤกษ์ในวันออกรถ ต้องเป็นวันธงชัย ไม่ใช่วันที่เป็นกาละกีนี และเลือกแม้กระทั่งเลขบนแผ่นป้ายทะเบียน (อะไรจะปานนั้น)
ถ้าว่ากันเฉพาะสีแล้ว ฟอร์ด ก็มีวิธีรู้ล่วงหน้าได้ว่าสีไหนที่พ่นรถยนต์เป็นที่ชื่นชอบ เพราะ ฟอร์ด เมื่อถึงเวลาของการสร้างสรรค์สีใหม่ให้กับรถยนต์ นักออกแบบของ ฟอร์ด จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางสังคม และคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ต่างๆ จะส่งผลต่อความชื่นชอบในสีรถยนต์อย่างไร จากนั้น ผู้ออกแบบจะนำเอาความรู้ที่ได้เหล่านี้มาผนวกเข้ากับเทรนด์การออกแบบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อสร้างสีสันที่ดูทันสมัย ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบครึ่งทศวรรษหลังจากที่ได้เริ่มพัฒนา การออกแบบสีของรถนั้นเริ่มต้นขึ้น 4 ปีก่อนหน้าที่จะมีการนำรถยนต์รุ่นนั้นๆ ออกจำหน่ายโดยนักออกแบบของฟอร์ดจะศึกษาเทรนด์หลักต่างๆ ที่สำคัญ เมื่อทีมออกแบบของ ฟอร์ด รู้ว่าเทรนด์การออกแบบจะเป็นไปในทิศทางใด พวกเขาจำเป็นที่จะต้องสวมบทเป็นนักสังคมศาสตร์ด้วย
อนึ่ง เห็นได้ชัดเจนหลังเหตุการณ์วิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 ซึ่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจทำให้ผู้คนเป็นกังวลกับราคาขายต่อของรถยนต์ในตลาด ส่งผลให้รถยนต์แบบโทนสีเรียบๆ ครองยอดการจำหน่าย เพราะผู้ซื้อต่างให้ความสำคัญกับการดึงดูดผู้ซื้อต่อในอนาคตมากกว่าการเลือกสีเพราะความชอบส่วนตัว การบริโภคสินค้า และบริการโดยปราศจากความรู้สึกผิดเพราะมีสำนึกต่อส่วนรวมมากขึ้น ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการเลือกสีที่ ‘ปลอดภัย’ เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในเวลาต่างๆ ด้วยเช่นกัน การเลือกสีสันฉูดฉาดอาจทำให้ดูไม่เป็นมิตร หรืออาจแสดงถึงความไม่เคารพต่อเพื่อนร่วมสังคมก็เป็นได้ ในขณะที่วิกฤตการเงินส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก ในทุกๆ ปี จะเกิดการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ในเอเชีย แปซิฟิค ซึ่งทำให้การทำงานของนักออกแบบเทรนด์สีรถยนต์ยากลำบากมากขึ้นไปด้วย สำหรับประเทศไทย เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านยอดขายโดยรถยนต์สีขาวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นมากที่สุด ในขณะที่สีดำซึ่งเป็นสียอดนิยมตลอดกาลก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ของสีรถไม่ได้มาจากสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับประเภทของรถด้วยเช่นกัน รถซีดานคันใหญ่ที่บ่งบอกถึงความหรูหราและความเป็นนักธุรกิจ ทำให้การออกแบบรถซีดานสีชมพูสดใสกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ในขณะที่รถซีดานคันเล็กอย่าง ฟอร์ด เอสคอร์ต รถสำหรับครอบครัวเฉพาะในประเทศจีน เหมาะกับสีขาวสดใส ส่วนรถเอสยูวีสำหรับคนรักไลฟ์สไตล์เอาท์ดอร์ สีบรอนซ์ธรรมชาติ หรือสีทองแดงจึงเป็นที่นิยมมากกว่า สำหรับรถกระบะ ซึ่งคนทั่วไปมักนึกถึงความสมบุกสมบัน สีสว่างๆ ก็จะไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เทรนด์การเลือกสีรถกระบะได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์มากขึ้น ตัวอย่าง เช่น รถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นไวล์ดแทรค สีพิเศษ สีส้ม ไพรด์ ออเร้นจ์ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
จะเห็นว่าการคิดคำนวณล่วงหน้า ในการหาสีพ่นรถยนต์ให้คนถูกใจ เป็นเรื่องยาก รถยนต์รุ่นต่างๆ ส่วนใหญ่ จะมีสีหลักๆ ที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อาทิ สีขาว สีดำ และสีสดๆ อย่างสีแดง สีเหล่านี้เป็นที่ยอมรับและไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนมากเท่าไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง นวัตกรรมของเทคโนโลยีการพ่นสีรถที่เกิดขึ้น จะทำให้การเปลี่ยนสีรถมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น การปรับเปลี่ยนดีไซน์ของรถยนต์ก็มีผลต่อสีของรถด้วยเช่นกัน