โตโยต้าได้มีการพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดย คุณสมคิดประดิษฐ์กำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดพร้อมด้วย คุณสมชาย จักร์กรีนทร์ ผู้อำนวยการสถาบันไทย – เยอรมัน (Thai-German Institute) และ ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Human Development Center) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดสถาบันไทย – เยอรมัน มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำ 10 แห่ง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยี ยานยนต์ การผลิต และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโตโยต้า ตลอดจนร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลักสูตรองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นอื่นๆ แก่บุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมให้ตรงกับความต้องการของ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารพนาเวศ โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
โครงการ “การพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สถาบันไทย – เยอรมัน พร้อมด้วย มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำ 10 แห่ง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และถือเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ ทางโตโยต้ามุ่งหวังที่จะนำเอาองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยียานยนต์ การผลิต และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาถ่ายทอดให้แก่บรรดา นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรต่างๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และเตรียมความพร้อมให้มีศักยภาพตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นอื่นๆ จากประสบการณ์ตรงของบุคลากรภายในบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ให้แก่บรรดาบุคลากรเหล่านี้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
สำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อให้พร้อมรองรับต่อความต้องการแรงงาน ได้แก่
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม
7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
9) อุตสาหกรรมดิจิทัล
10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
11) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
12) อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนงานที่ทางโตโยต้าได้จัดเตรียมไว้สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บรรดาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบไปด้วย 2 โครงการหลัก ได้แก่
1.โครงการส่งอาจารย์เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่สถาบันการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด และ สถาบันไทย-เยอรมัน ในการจัดสรรคณะผู้เชี่ยวชาญและผู้ฝึกสอน ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บรรดา นักเรียน นักศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย ภายใต้ 2 หัวข้อหลัก อันได้แก่
1.1) โรงงานอัจฉริยะ หรือ “Smart Factory” เป็นการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีเครื่องจักรต่างๆปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT (Internet of Things) เข้ามาบริหารจัดการภายในโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกสร้างการทำงานที่เป็นระบบแบบอัตโนมัติ (Automation) ยกระดับคุณภาพของชิ้นงาน แต่ใช้กำลังคนที่น้อยลง
1.2) การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือ “Productivity Improvement” เป็นการนำวิถี “การผลิตแบบโตโยต้า” มาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการผลิตที่ครบทั้งมาตรฐาน และคุณภาพตลอดทั้งกระบวนการ ประกอบไปด้วย 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ ความปลอดภัย, สิ่งแวดล้อม, คุณภาพ, ผลผลิต, ต้นทุน และการพัฒนาบุคลากร
สถาบันการศึกษา 7 แห่ง ที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวกับทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แก่
1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
3) มหาวิทยาลัยบูรพา
4) มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
5) มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
6) วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง
7) วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม
2.โครงการพัฒนาผู้ประกอบการภายใต้อุตสาหกรรมยานยนต์ หลักสูตรการบำรุงรักษายานยนต์สมัยใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สถาบันไทย-เยอรมัน และสถาบันการศึกษา 3 แห่งในเขตพื้นที่ EEC อันได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยเทคนิคบางแสน และ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ในการพัฒนา “หลักสูตรการบำรุงรักษายานยนต์สมัยใหม่” ให้กับผู้ประกอบการภายใต้อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มแรงงานช่างเทคนิคเพื่อให้มีความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เสริมสร้างความรู้และทักษะในการตรวจสอบ และการซ่อมบำรุงพื้นฐานให้กับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสม (Hybrid Vehicle), ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) และเทคโนโลยีการจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System) เป็นต้น
สำหรับความร่วมมือในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายเพื่อจะช่วยพัฒนาบุคลากรด้วยหลักสูตรระยะสั้น ที่ต้องการยกระดับทักษะของบุคลากร หรือนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยร่วมกันออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และยังถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของบริษัทฯด้านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศไทย ภายหลังจากการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัทฯ ในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ60 ปี ที่ยังคงยึดมั่นในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และมุ่งหวังว่าการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ โดยมีส่วนช่วยสร้างเสริมทักษะและศักยภาพที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับแผนงานและความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต