ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย มร. ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ มร.ทัตสึโร่ ทาคามิ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในงาน “ฉลองความสำเร็จยอดการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าครบ 10 ล้านคัน” ณ โรงงานโตโยต้า สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 ภายใต้ปรัชญา “ส่งเสริมพัฒนาการอย่างยั่งยืนของสังคมและประเทศที่โตโยต้าเข้าไปดำเนินธุรกิจ” ส่งผลให้ธุรกิจรถยนต์ของโตโยต้าเจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ จวบจนปัจจุบันกว่า 56 ปี ภายใต้การลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จากโรงงานผลิต 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์สำโรง จ.สมุทรปราการ โรงงานประกอบรถยนต์เกตเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโรงงานประกอบรถยนต์บ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยความร่วมมือร่วมใจ และความทุ่มเทของพนักงานทุกคน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด นำมาสู่การบรรลุยอดการผลิตครบ 10 ล้านคัน และเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จของโตโยต้า การก้าวย่างสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคงของโตโยต้าในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 6 ยุคด้วยกัน
ยุคที่ 1 เป็นยุคก่อร่างสร้างฐาน “ก้าวแรกแห่งการร่วมเดินเคียงข้างคนไทย” (ระหว่าง พ.ศ. 2505 – 2515) โดยก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรกขึ้นที่ ต. สำโรงเหนือ เพื่อประกอบรถรุ่นแรก คือ โตโยต้า ไดน่า เจเค 170 และ โคโรน่า อาร์ที 40 ตามด้วย ไฮลักซ์ อาร์เอ็น 10 และ โคโรลล่า เคอี 20 ด้วยอัตราการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 25
ยุคที่ 2 คือ ยุคแห่งการพัฒนา “มุ่งมั่นบนเส้นทางแห่งการพัฒนาและเสริมสร้างความเชื่อมั่น” (ระหว่าง พ.ศ. 2516 – 2525) ด้วยการขยายกำลังการผลิต ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 2 ใน ต. สำโรงใต้ จ. สมุทรปราการ เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการประกอบโดยใช้สายพานการผลิตระบบแขนกลอัตโนมัติเชื่อมตัวถัง และระบบเคลือบสีป้องกันสนิม แคทไอออนอีดีพี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยยอดการผลิตในประเทศครบ 100,000 คัน ในปี 2523
ยุคที่ 3 ยุคหน้าโตโยต้า “มุ่งหน้าสร้างความมั่นคง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทย” (ระหว่าง พ.ศ. 2526 – 2535) ได้แสดงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ ด้วยการร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตเครื่องยนต์สำหรับรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งออกพร้อมแนะนำเทคโนโลยีเครื่องยนต์ทวินแคม 16 วาล์ว เป็นรายแรกของประเทศในรุ่น “โคโรลล่า เออี 92” ทำให้สามารถประกอบรถยนต์ได้ครบ 500,000 คัน ในปี 2535
ยุคที่ 4 ยุคประชายานยนต์ “สร้างสรรค์ยนตรกรรม เพื่อตอบสนองทุกความต้องการ” (ระหว่าง พ.ศ. 2536 – 2545) เปิดโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ เพื่อผลิตรถยนต์นั่ง โดยในปี 2539 สามารถผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน ด้วยกำลังการผลิตจาก 3 โรงงานหลัก รวมถึงแนะนำเครื่องยนต์ระบบวาล์วอัจฉริยะ VVT-I ครั้งแรกใน “โคโรลล่า อัลติส” และเปิดตัวรถ ”โตโยต้าโซลูน่า” รุ่นแรก ที่วิศวกรชาวไทย มีส่วนร่วมในการออกแบบและใช้ชิ้นส่วนประกอบภายในประเทศกว่าร้อยละ 70
ยุคที่ 5 ยุคเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม “ยนตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม บูรณาการความรับผิดชอบเพื่อสังคมไทย” (ระหว่าง พ.ศ. 2546 – 2555) โดยเป็นบริษัทแรกที่แนะนำระบบไฮบริดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งได้รับการยกระดับให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกหลักของรถกระบะขนาด 1 ตัน ในกลุ่มบริษัทโตโยต้า ภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) เพื่อผลิตรถกระบะ “ไฮลักซ์” และรถเอนกประสงค์ “ฟอร์จูนเนอร์” และในปี 2550 ได้ก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ขึ้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรองรับการขยายตัว ในประเทศ และส่งออกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้โตโยต้าสามาถผลิตรถยนต์ได้ครบ 5 ล้านคัน ในปี 2553 ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงครึ่งหนึ่งของการผลิตครบ 1 ล้านคันในอดีต
ยุคที่ 6 ยุคนวัตกรรมแห่งความยั่งยืน “สร้างสรรค์นวัตกรรมการขับเคลื่อน “ที่ดียิ่งกว่า” เพื่อทุกคน” (ระหว่าง พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน) แนะนำ ยารีส เอทีพ (Yaris ATIV) อีโคคาร์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี และ Toyota C-HR ที่มาพร้อมกับ 4 เทคโนโลยีใหม่มาตรฐานระดับโลกของรถโตโยต้า ได้แก่ ระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 สถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ (Toyota New Global Architecture หรือ TNGA) มาตรฐานความปลอดภัยใหม่ระดับโลกของรถโตโยต้า (Toyota Safety Sense หรือ TSS) และระบบที่เชื่อมต่อรถและผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียว (Toyota T-Connect Telematics)